ดร. เคท โอเรลลี ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลในสหราชอาณาจักรพบว่า 96% ขององค์กรยังไม่มีนโยบายเฉพาะสำหรับโรคมะเร็ง และ 77% ของพนักงานที่ป่วยหรือได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งไม่ได้รับสวัสดิการที่เพียงพอ ขณะที่อัตราการเกิดโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในยุโรปกลางและหลายพื้นที่ในเอเชียเพิ่มสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
“การสนับสนุนพนักงานที่ไม่เท่าเทียมกันนี้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการนำโปรแกรมสนับสนุนผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครอบคลุมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาวะของพนักงานในองค์กร การให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคมะเร็ง การส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ และการสนับสนุนให้มีการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นมาตรการสำคัญในการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจว่าพนักงานจะได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นตลอดระยะเวลาในการดูแลสุขภาพของตนเอง
องค์กรต่าง ๆ สามารถปรับปรุงโปรแกรมสนับสนุนผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการทำความเข้าใจความต้องการเฉพาะตัวของพนักงานแต่ละราย รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคและเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ องค์กรจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกสบายใจในการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนเองและขอรับความช่วยเหลือที่จำเป็น โดยนโยบายเชิงรุกและครอบคลุมในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในที่ทำงานไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อพนักงานเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรอีกด้วย”
ข้อมูลจาก International SOS Global Assistance ระหว่างปี 2565-2567 ระบุว่า มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มีการร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุดในผู้หญิง คิดเป็น 28% ขณะที่มะเร็งต่อมลูกหมากพบมากที่สุดในผู้ชาย คิดเป็น 6.27%
ด้วยเหตุนี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส จึงนำเสนอแนวทาง 5C เพื่อช่วยองค์กรพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมสุขภาวะของพนักงาน ประกอบด้วย การสร้างความตระหนักรู้และการป้องกัน (Champion awareness and prevention) การดูแลและช่วยเหลือ (Care and support) การสื่อสารและร่วมมือ (Communication and collaboration) การประเมินสถานที่ทำงาน (Conduct a workplace assessment) และการรักษาความลับและเคารพความเป็นส่วนตัว (Confidentiality and respect)